หลังจากที่คุณแม่เป็นคนเลือกสถานที่พาลูกเรียนรู้โลกกว้างมาสองครั้ง ลูกเริ่มส่งเสียงขอเลือกเองบ้าง แต่คุณแม่มีข้อแม้ว่าต้องเป็นที่ที่ไม่ต้องเสียค่าเข้านะ ลูกบอกว่าไม่มีหรอก คุณแม่บอกว่ามีสิ คุณแม่ยังหาได้เลย แสดงว่าลูกค้นคว้าไม่ดีพอ ไปไปมามา สรุปว่า วันนี้คุณแม่ได้เป็นคนเลือกอีกครั้ง เพราะลูกยังนึกไม่ออก เราจะไปเดินเล่นกันที่ ชุมชนหัวตะเข้ ริมคลองประเวศน์บุรีรมย์กัน (คลองย่อยของคลองประเวศบุรีรมย์ไหลผ่านหมู่บ้านเราด้วยนะ)
วันก่อนคุณแม่เห็นเรย์ แมคโดนัลด์ พาเพื่อนฝรั่งเที่ยวตลาดหัวตะเข้อยู่แว้บ ๆ ในทีวี มีทั้งงานศิลป์ ทำว่าว และกิจกรรมน่าสนใจหลายอย่าง คุณแม่หาข้อมูลเพิ่มเติม มีคนบอกว่าที่นี่จะคึกคักวันธรรมดา ส่วนเสาร์อาทิตย์ร้านจะปิด ไม่เหมือนตลาดน้ำที่อื่น
วันนี้เราเดินออกประตูหลังหมู่บ้านมาที่สถานีบ้านทับช้าง รอรถไฟไปหัวตะเข้ นายสถานีบอกว่ายังนั่งฟรีอยู่ ฟรีมาตั้งแต่ตอนที่คุณแม่นั่งไปทำงานที่มักกะสันเมื่อหลายปีก่อน (โอ้ว คุณแม่ออกจากงานมา 7 ปีแล้วหรือนี่) แต่ต้องออกตั๋วด้วย เห็นแล้วเสียดายค่าตั๋วกระดาษที่ปริ้นท์ออกมาจริง ๆ รถไฟมาถึงสถานีบ้านทับช้างสายไป 10 นาที ขึ้นไปบนรถไฟมีแต่พ่อค้าแม่ค้าที่นั่งกลับมาจากกรุงเทพฯ ถ้านั่งรถไฟเข้ากรุงแต่เช้าก็จะเจอพ่อค้าแม่ค้านั่งเข้ากรุงเหมือนกัน เอาของไปขายที่ตลาดบ้าง ขายบนรถไฟบ้าง ขายทุกที่ที่ขายได้ ลูกสองคนไม่ยอมนั่ง ให้คุณแม่นั่ง ส่วนลูกยืนกันไป (ทั้งที่มีที่นั่งว่าง) เรานั่งผ่านสถานีลาดกระบัง ป้ายหยุดรถพระจอมเกล้า และลงที่สถานีหัวตะเข้ (ใกล้บ้านมาก นั่งรถไฟแค่สองสถานีเอง)
ลงจากรถไฟสิบเอ็ดโมงกว่า แดดแผดเผามาก จากเดิมคุณแม่ว่าจะพาลูกเดินเลียบคลองข้างโรงเรียนพรตพิทยพัตเข้าด้านหลังชุมชนหัวตะเข้ คุณแม่เห็นหน้าลูกคนโตแล้วจำต้องเปลี่ยนใจเรียกแท็กซี่ไปซอยลาดกระบัง 17 เพื่อเข้าทางด้านหน้าแทน ลงจากรถแท็กซี่เดินขึ้นสะพานที่มีป้ายชุมชนติดอยู่ (ชุมชนหลวงพรต-ท่านเลี่ยม) พอลงสะพานเท่านั้นแหละ อุ๊ย เรามาผิดวันแน่ เงียบงันมาก แต่ก็ยังเลี้ยวขวาแล้วเดินหน้าต่อไป เดินเลยร้าน ณ ลาดกระบัง ไปตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ทันรู้ตัว เพราะร้านปิด บ้านสามครู (แกลเลอรี่ของอาจารย์วิทยาลัยช่างศิลป์) ที่อยากให้ลูกมาทำกิจกรรม รวมถึงศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้วิถีถิ่นหัวตะเข้ ที่คิดว่าจะพาลูกมาทำว่าวใบไม้กับลุงว่าว ก็ปิดเช่นกัน ไม่เป็นไร เราเดินต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงร้าน สี่แยกหัวตะเข้ คุณแม่ไม่พลาดมาม่าต้มยำ ลูกชายสองคนสั่งข้าวไก่ทอดคาราเกะ นั่งรับลมกันเพลิน ถามเจ้าของร้านสี่แยกหัวตะเข้ว่าต้องมาวันเสาร์อาทิตย์หรือคะ ร้านต่าง ๆ ถึงจะเปิด เค้าตอบว่า มาวันไหนก็เงียบแบบนี้แหละ เค้าไม่ค่อยเปิดกันแล้ว จะเปิดเฉพาะกิจเป็นครั้ง ๆ ไป (แต่คุณแม่เห็นที่ร้านมีเด็กนักเรียนกับเด็กมหาวิทยาลัยมานั่งกินข้าวเต็มเกือบทุกโต๊ะเลยนะ คงเป็นขาประจำ)
อิ่มท้องกันแล้ว คุณแม่ชวนเดินต่อ ข้ามสะพานสุดเขตชุมชน เจอกำแพงตะเข้ (ว่ากันว่าแต่ก่อนแถวนี้มีจระเข้เยอะ) ต้องแชะ แต่แดดร้อนมาก รีบแชะรีบเดินกลับทางเดิม เดินกลับมา ถึงบางอ้อ เรามาเช้าเกิน (สิบเอ็ดโมงครึ่งนะ เช้าเกิน) เพราะตอนเดินกลับ ร้านอื่น ๆ เริ่มเปิดกันแล้ว ทั้งร้านตัดผม ร้านเย็บผ้า ร้านทำกรอบรูป ร้านช่างกลึง และร้านขนม (มีเกมเพลย์สเตชั่นให้เล่นด้วยนะ) ส่วนบ้านสามครู กับศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้วิถีถิ่นหัวตะเข้ ยังปิดเหมือนเดิม
สามคนแม่ลูกเดินกลับออกมาถึงหน้าปากซอยลาดกระบัง 17 เรียกแท็กซี่มาตลาดเทคโนลาดกระบัง จุดหมายปลายทางสุดท้ายคือร้าน Timber Café เพราะสัญญากับลูกชายคนโตไว้ว่าเราจะจบทริปด้วยร้านติดแอร์ ให้ลูกได้ชื่นใจหลังจากเดินร้อนกันมา (ที่จริงแล้วตลาดก็ไม่ได้ร้อนนะ ร้อนตอนเดินออกจากตลาดมาแล้วเท่านั้นแหละ)
เหมือนเดิม พอได้แอร์เย็นพร้อมเครื่องดื่มโปรด ลูกไม่ยอมกลับบ้านอีกแล้ว คุณแม่ต้องถามว่าจะกลับได้หรือยัง ถามอยู่สามครั้ง นั่งอยู่สองชั่วโมง กว่าลูกจะยอมกลับ
ขากลับลูกขอนั่งรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ คุณแม่โอเค แต่ต้องเรียกแท็กซี่จากป้ายหยุดรถพระจอมเกล้าของรถไฟไทยมาที่สถานีลาดกระบัง พอใกล้ถึงสถานีลาดกระบัง คุณแม่นึกได้ว่านี่ใกล้จะถึงบ้านเราอยู่แล้วนะ ต้องเดินขึ้นสถานีรอรถไฟ นั่งรถไฟไปอีกหนึ่งสถานี ถึงสถานีบ้านทับช้างแล้วต้องเดินลงสถานีเข้าหมู่บ้านอีก เพื่ออะไรคะลูก ค่ารถไฟรวมกันสามคนแพงกว่านั่งแท็กซี่ต่อไปถึงบ้านอีกมั้ง ว่าแล้วชวนลูกนั่งแท็กซี่กลับบ้านเราเลยเถอะครับ
ลูกบอกว่าแล้วแต่คุณแม่ สรุปว่าเราถึงบ้านโดยสวัสดิภาพเย็นกายสบายใจตอนบ่ายสาม ถือว่าออกไปเปลี่ยนบรรยากาศกินข้าวนอกบ้าน ประหยัดค่าแอร์ นั่งรถไฟฟรี แต่ค่าแท็กซี่รวมหนึ่งร้อยบาท และได้รู้ว่าห่างจากบ้านเราไปสองสถานี ยังมีชุมชนริมน้ำน่ารัก ผู้คนยังโดยสารเรือไปตามคลองเดียวกันกับที่เราขับรถข้ามไปมาทุกเช้าเย็น
นี่คือเรียนรู้โลกกว้างใกล้บ้าน พร้อมประโยคแถมจากแม่ถึงลูก “นั่งรถไฟมาเรียนลาดกระบัง ใกล้บ้านดีนะลูก” อิอิ
รูปเยอะเลย ดูเพิ่มได้ที่ลิงก์ Imagery ด้านล่างค่ะ
Imagery: Hua Takhe familygallery and Hua Takhe resortgallery
Leave a Reply