ทริปปิดเทอมปลายเดือนมีนาเกิดขึ้นแบบปุบปับ เมื่อคุณพ่อบอกว่าต้องรีบใช้วันลาพักร้อนของปีที่แล้วให้หมดภายในเดือนนี้ ตอนแรกคุณพ่อบอกว่าจะพักอยู่บ้านเฉย ๆ คุณแม่ก็ได้แต่ฟังนิ่ง ๆ (แอบเบ้ปากนิดนึง) แต่คิดว่าเป็นไปได้ยาก คุณพ่อหยุดอยู่บ้านยาว 9 วัน ไม่ไปไหนกันเลย ไม่เคยเกิดขึ้นกับครอบครัวเรา (ไม่นับครั้งที่คุณแม่งานล้นมือประจวบเหมาะกับตอนที่คุณพ่อตกบันไดนะ)
ผ่านไปไม่กี่วัน คุณพ่อเปลี่ยนแผน (เห็นมะ) บอกให้คุณแม่เลือกที่พักที่พัทยาหนึ่งคืนเพราะลูกอยากไป Harbor Pattaya หลังจากนั้นอีกสองคืนให้คุณแม่เลือกว่าจะไปไหน เดิมทีคุณแม่จะเลือกโฮมสเตย์ริมน้ำตก แต่หาข้อมูลแล้วปรากฏว่าช่วงนี้น้ำน้อย จะเลือกริมทะเลก็เกรงว่าจะเบื่อเพราะไปทะเลบ่อยมาก สรุปมาลงเอยที่ บ้านหลวงราชไมตรี ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนริมน้ำจันทบูร
เมื่อลูกรู้ว่าเราจะต้องไปนอนที่บ้านพักประวัติศาสตร์อายุ 150 ปี ลูกไม่ชอบเลยเพราะชินกับการนอนรีสอร์ทและโรงแรม ลูกถามคุณแม่ว่า ทำไมถึงต้องนอนที่นี่ คุณแม่บอกว่าคุณแม่อยากให้ลูกเปิดรับประสบการณ์ที่หลากหลาย ได้เรียนรู้ชีวิตของคนอื่นบ้าง ว่าแล้วก็เปิดหน้าเว็บของที่พักให้ลูกดู
การอนุรักษ์ ที่มาพร้อมกับความรัก
บ้านพักประวัติศาสตร์หลวงราชไมตรี Historic Inn เกิดจากความร่วมมือกันของชาวชุมชนริมน้ำจันทบูร ทายาทของบ้านหลวงราชไมตรี และสถาบันอาศรมศิลป์ ก่อตั้งบริษัท จันทบูรรักษ์ดี จำกัด ในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยเปิดให้ชาวบ้านทุกคน รวมไปถึงคนทั่วไปที่มีแนวความคิดเดียวกันนี้ มาร่วมกันถือหุ้นเพื่อเป็นเจ้าของร่วมกัน เพื่ออนุรักษ์ความเป็นอยู่ของชุมชนแห่งนี้ไว้อย่างยั่งยืน
“เพราะการอนุรักษ์ไม่ใช่การดูแลแค่อาคาร แต่คือการดูแลชีวิต
ลำพังความคิดจึงยังไม่พอ มันต้องมีความรักอยู่ในนั้นด้วย”
กว่าจะถึงที่พักก็เกือบห้าโมงเย็น เพราะมัวแต่อ้อยอิ่งกันอยู่ที่พัทยา จนพนักงานที่บ้านพักโทรตาม เข้าพักวันแรก มี Welcome Drink เป็นน้ำมะปี๊ด หวานอมเปรี้ยวชื่นใจ และมีขนมไข่วางให้บนโต๊ะทำงานด้วย (กินหมดตั้งแต่ห้านาทีแรก)
ห้องพักแต่ละห้องมีเรื่องราวและเอกลักษณ์เฉพาะตัว คืนแรกเรานอนชั้นล่าง คุณพ่อกับคุณแม่นอน “ห้องครัวนายแม่” เป็นห้องริมน้ำมีระเบียง ลูกสองคนนอน “ห้องนักเรียนหญิง” ห้องนี้มีเตียงสองชั้น แต่ลูกดันลงมานอนด้วยกันที่เตียงชั้นล่าง ป้ายชื่อหน้าห้องจะมีประวัติที่มาสั้น ๆ ของห้องนั้นให้อ่านด้วย และเนื่องจากบ้านพักเป็นบ้านไม้ คุณแม่ต้องคอยกำชับให้ลูกอยู่ในความสงบ อย่าส่งเสียงดัง และเดินเบา ๆ ด้วยปลายเท้า
คืนที่สอง ทุกคนย้ายมานอนด้วยกันที่ “ห้องลูกยาง” เป็นห้องที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการปลูกยางพารา ห้องนี้เพดานสูง มีเตียงอยู่ด้านล่าง ลูกสองคนจองนอนด้านล่าง (เพราะแอร์ลงเย็นกว่าด้านบน) มีบันไดขึ้นไปชั้นใต้หลังคาที่วางฟูกคู่สำหรับนอนได้ 2 คน (คุณพ่อคุณแม่ไม่มีทางเลือก ต้องปีนมานอนกันตรงนี้แหละ) ห้องนี้มีระเบียงเห็นวิวแม่น้ำเหมือนกัน คืนที่สองนี่ คุณแม่ต้องเตือนลูกบ่อยขึ้นเรื่องการเดินเบา โดยเฉพาะคนเล็ก ลืมตัวจะวิ่งตลอด แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี ไม่มีใครมาเคาะประตูบ่นหน้าห้อง (รอดตัวไป)
ห้องน้ำที่นี่เป็นพื้นไม้ จะมีถังไม้กลม ๆ ใหญ่ ๆ ให้เราเข้าไปยืนอาบน้ำฝักบัวข้างในถัง แล้วเอาผ้าม่านพลาสติกคลุมเป็นวงไม่ให้น้ำกระเด็นออกมา คุณแม่ว่าน่าจะมีใครทำน้ำกระเด็นออกมาบ้างแหละ พอแขกเช็คเอาต์ออกไป คงต้องรีบมาดูแลทำให้แห้งโดยเร็ว
อาหารเช้ามีให้เลือกสามอย่าง เป็นไข่ดาวกับไส้กรอก หรือโจ๊ก หรือก๋วยจั๊บ เสิร์ฟพร้อมขนมไทยและน้ำเต้าหู้หรือน้ำส้มคั้น มีกาแฟ ปาท่องโก๋ และขนมปังปิ้งวางไว้ให้บริการตัวเองด้วย คนที่มาพักที่นี่สวนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ คนไทยก็มีบ้างแต่ค่อนข้างมีอายุแล้ว (คิดเอาเองว่าเราเด็กสุด อิอิ)
กิจกรรมที่ครอบครัวทำร่วมกันในช่วงเวลาสองวันสองคืนที่นี่ นอกจากจะได้เดินสำรวจชุมชนริมน้ำจันทบูรแล้ว เรายังได้ไปบริจาคตุ๊กตา (ที่คุณพ่อหนีบ/ตักได้) ให้ผู้ป่วยเด็กที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า (มีเจ้าถิ่นหาข้อมูลและพาไป ขอบคุณมาก ๆ ค่ะน้องวี ชัย ฟ้าใส ตะวัน เมฆ และทะเล) เข้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี เดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่าวคุ้งกระเบน แวะน้ำตกพลิ้ว และพากันเดินดุ่มเข้าไปในโครงการป่าวังจันทร์ (ตอนขากลับที่ต้องขับผ่านระยองอีกด้วย) ทุกที่มีเรื่องราว/เล่ายาวไม่แพ้กัน เดี๋ยวคุณแม่จะเขียนเล่าเพิ่มเติมต่างหากอีกทีว่าใครทำวีรกรรมอะไรไว้บ้าง (หุหุ)
โดยรวมแล้ว คุณแม่ชอบ บ้านพักหลวงราชไมตรี ถึงแม้ว่าเรื่องบริการและอาหารการกินจะเทียบกับรีสอร์ทหรือโรงแรมไม่ได้ แต่บรรยากาศสบาย ๆ อีกทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านพักและชุมชนริมน้ำจันทบูรที่ได้อ่านจากหนังสือที่บ้านพักเตรียมไว้ให้ ทำให้การมาพักที่นี่มีเรื่องราวน่าจดจำและน่าประทับใจ แถมยังเป็นการช่วยอนุรักษ์และสนับสนุนให้ชุมชนยืนหยัดต่อไปได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย เหมือนที่ในหน้าเว็บของบ้านพักเขียนไว้ว่า
การเข้ามาพักของทุกคน ณ ที่แห่งนี้ คือ ส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์
ความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน ที่กำลังถูกกลืนหายไปกับการพัฒนา
ให้คงเสน่ห์ชาวบ้านที่นักท่องเที่ยวหลายคนกำลังตามหา
และเป็นจุดเริ่มต้นในการเคลื่อนไหว และดูแลอนุรักษ์ชุมชนเก่าที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย…
ดูรูปเพิ่มเติมและเว็บไซต์ที่พักได้จากลิงก์ด้านล่างค่ะ
Imagery: Baan Luang Rajamaitri familygallery and Baan Luang Rajamaitri resortgallery
Leave a Reply