หลังจากเช็คเอาท์ออกจาก X2 Kuiburi คุณพ่อเช็คเส้นทางไป บ้านไร่ไออรุณ หูย สี่ชั่วโมงครึ่ง ก่อนหน้านี้เคยเช็ค เหมือนจะแค่สามชั่วโมง คุณแม่มองหน้าคุณพ่ออย่างเห็นใจ จะช่วยขับรถ คุณพ่อบอกไม่ต้อง (แหม แม้น แมน) ลูกหลับไปตลอดทาง คุณแม่แวะซื้อข้าวที่ร้านเชสเตอร์กริลล์ในปั๊มน้ำมันเก็บไว้เป็นเสบียง ลูกตื่นมาหิวเมื่อไหร่ ค่อยจอดรถกินกัน (คุณพ่อว่างั้น)
ที่จริงแล้วจุดหมายปลายทางหลักของทริปขับรถเที่ยวไทย 9 วัน (คุณพ่อต้องใช้วันลาที่เหลือของปีที่แล้วให้หมดภายในเดือนมีนาคม) คือ บ้านไรไออรุณ นี่แหละ ก่อนถึงวันเดินทาง ลูกชายคนโตคอยหาเหตุให้ไม่ต้องพักที่นี่อยู่หลายครั้ง (เพราะไม่มีทีวี ตู้เย็น เครื่องทำน้ำอุ่น ที่สำคัญไม่มีไวไฟ) แต่ยังสู้เทคนิคการแก้ปัญหาของคุณแม่ไม่ได้ ข้ออ้างต่าง ๆ นานา ของลูกเป็นอันตกไป เรามาพักที่นี่ตามแผนเดิม (แหม กว่าคุณแม่จะได้ที่พัก ก็ต้องจองล่วงหน้าหลายเดือนอยู่นะ ส่วนใหญ่จะว่างวันธรรมดาด้วย จองได้แล้วจะให้ยกเลิกได้ยังไง เนอะ)
ก่อนถึงที่พัก เราขับรถผ่านภูเขาหญ้าทางขวามือ คุณพ่อขอกลับรถไปถ่ายรูปสักหน่อย ได้เห็นภูเขาหัวโล้นสีน้ำตาลแบบที่ไม่กล้าลงรูปให้ชมกันเลย (แห้งแล้งจนต้องปาดเหงื่อ) ออกจากภูเขาหญ้าได้สักพัก พี่เร (พี่สาวของน้องเบสเจ้าของบ้านไร่) โทรมาถามว่าถึงไหนแล้ว ใกล้ได้เวลากลับบ้านของน้อง ๆ ที่ทำงานที่บ้านไร่แล้ว คุณแม่บอกตำแหน่งไป พี่เรบอกว่าใกล้ถึงแล้ว
เราไปถึงก่อนห้าโมงนิดหน่อย มีน้ำกระเจี๊ยบเย็น ๆ เสิร์ฟในขันรอต้อนรับ พี่เรแนะนำข้อมูลต่าง ๆ เรียบร้อย คุณแม่ของน้องเบสชวนคุย ถามชื่อคุณแม่และลูกชาย ตัวคุณแม่เองก็ถามโน่นถามนี่เพิ่มเติม ส่วนคุณพ่อก็ถ่ายรูปเหมือนเดิม จนไม่ได้ดื่มน้ำกระเจี๊ยบ ปล่อยเป็นหน้าที่ของลูกชายสองคนเพลิดเพลินกันไป
เมื่อเดินเข้ามาภายในบริเวณที่พัก เห็นต้นไม้ร่มรื่น แปลงผัก แปลงไม้ดอก พาให้สดชื่น รื่นรมย์ รับรู้ได้ถึงความตั้งใจของน้องเบสและคนทำงานในบ้านไร่ทุกคน บ้านพักแต่ละหลังอยู่ห่างกัน เป็นส่วนตัวมาก ๆ ทุกหลัง แทบไม่รู้เลยว่ามีบ้านพักหลังอื่นอยู่ด้วย มารู้อีกทีตอนนั่งกินข้าวเย็นพร้อมกันนั่นเอง
ครอบครัวเราพักบ้านม่านหมอก 2 ซึ่งเป็นบ้านพักที่เพิ่งสร้างเสร็จหลังล่าสุด มีสองห้อง ห้องนอนใหญ่มีสองชั้น ชั้นล่างเป็นเตียงสองชั้น ปลายเตียงมีโต๊ะเขียนหนังสือเล็ก ๆ ชั้นบนเป็นเตียงใหญ่สำหรับสองคน ทางเดินขึ้นจากชั้นล่างไปชั้นบนเป็นบันไดอยู่นอกห้อง ห้องนี้มีเพดานสูงที่คุณพ่อคุณแม่สามารถส่องดูลูกด้านล่างได้ มีตาข่ายให้ลูกนอนเล่นเพลิน ๆ ที่ชั้นสอง (คุณแม่ไม่กล้า กลัวรับน้ำหนักคุณแม่ไม่ไหว) อีกห้องหนึ่งอยู่อีกด้านต้องขึ้นบันไดไปเหมือนกัน มีเตียงใหญ่นอนได้สองคน ด้านล่างห้องนอนนี้เป็นพื้นที่โล่ง ไม่ติดแอร์ มีโต๊ะนั่งเล่น จะนั่งทำงาน หรือนั่งกินขนมได้ (แต่ห้ามเอาของกินเข้าในห้องพัก) สุดท้าย คุณแม่ทำงานแปลต่อบนเตียงนอนนั่นแหละ เพราะไม่มีใครออกมานั่งเป็นเพื่อน (นั่งเป็นลูก นั่งเป็นสามี ก็ไม่มี)
อันที่จริงแล้ว ห้องนอนห้องที่สองนี้ เราตั้งใจเอาไว้ให้เพื่อนของครอบครัวพัก (เพื่อนคุณพ่อ เพื่อนคุณแม่ และเพื่อนคุณลูก รวม 1 คน) แต่เพื่อนเบี้ยวตามคาด (ห้องนี้จึงเกินมาอย่างน่าเสียดาย) เพื่อนอ้างว่าอากาศร้อน (แต่ที่จริงไม่ร้อนนะ ห้องพักก็ติดแอร์ อาบน้ำแบบมีฟ้าเป็นหลังคาแถมไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่นอีก น้ำเย็นเจี๊ยบได้ใจเลย) แถมอ้างอีกว่ากลัวคุณแม่พาไปเที่ยวเกาะแล้วทนร้อนไม่ไหว พร้อมโอดโอยว่าคุณแม่ไม่ยอมชวนไปพักที่ดี ๆ บ้าง คุณแม่ได้แต่คิดในใจว่า ที่นี่แหละ ดีที่สุด จริงใจที่สุด เหมาะที่สุดสำหรับการสัมผัสความรู้สึกดี ๆ ร่วมกันในฐานะเพื่อนสนิทของครอบครัว เพราะอะไร คงต้องอ่านต่อไปจากนี้
หลังจากทุกคนจับจองเตียงนอนกันเรียบร้อย คนโตจองเตียงล่าง คนเล็กจองเตียงบน (นอนดิ้น แต่จองเตียงบนเพราะมีที่กั้น ส่วนเตียงล่างไม่มีที่กั้น มีแววตกเตียงแน่นอน) คุณแม่เปิดโน้ตบุ๊กทำงาน คุณพ่อเดินถ่ายรูปมุมแคบ มุมกว้างในบ้านพักสองรอบ สักพักก็ได้เวลาอาหารเย็นพอดี
ครอบครัวเราเดินไปถึงบริเวณรับประทานอาหารเย็นตอนหกโมง โต๊ะกินข้าวถูกจับจองหมดแล้ว เหลือโต๊ะใหญ่อยู่หนึ่งโต๊ะ (วันนั้นเป็นคืนวันจันทร์ แต่ห้องพักเต็มทั้ง 9 ห้อง มีคนเข้าพักเยอะกว่า X2 อีกแน่ะ) น้องเบส (สถาปนิกผู้สร้างฝันให้เป็นจริง) ชวนให้นั่งโต๊ะนั้น พร้อมอธิบายว่าเพิ่งจัดดอกไม้ประดับซุ้มโต๊ะใหม่ จะรบกวนขอถ่ายภาพขณะที่ครอบครัวเรากำลังนั่งคุยกันด้วย แต่ไม่ต้องมองกล้อง (บ้านเราไม่มีปัญหา แถมฝากให้น้องช่วยถ่ายรูปครอบครัวเพิ่มด้วยเลย)
ระหว่างกินข้าว คุณพ่อของน้องเบสเดินถือผักที่เพิ่งเก็บมาจากแปลงผักปลูกเอง เดินมาทักทายพวกเราที่โต๊ะ และคุยกันต่ออีกนานพอสมควร เราเลยชวนคุณพ่อของน้องเบสนั่งกินข้าวด้วยกัน แต่คุณพ่อบอกจะไปตำน้ำพริกก่อน ปล่อยให้เรากินกันเองตามสบาย อาหารเย็นมื้อแรกมีปลาทอดขมิ้น ไก่ทอด และน้ำพริกกับผักสด (ให้มาถาดใหญ่มากมาย กินจนอิ่มแล้วยังหมดไปไม่ถึงครึ่งถาด) อร่อยมาก ๆ ทุกอย่าง แต่พลาดท่าสั่งน้ำพริกแบบเผ็ดน้อย แทนที่จะสั่งแบบไม่เผ็ด เพราะเผ็ดน้อยของที่นี่ทำเอาคุณพ่อคุณแม่ปากพองไปเหมือนกัน มื้อเย็นวันถัดมามีประสบการณ์แล้ว เลยสั่งต้มส้มแบบใต้แต่ไม่ใส่พริก อร่อยสุด ๆ ไปเลย
เช้าวันรุ่งขึ้น คุณแม่ตื่นมาถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้น ดูแล้วไม่ได้เรื่องสักเท่าไหร่ เลยปลุกคุณพ่อขึ้นมาช่วยถ่ายให้ จากนั้นคุณพ่อติดลม เดินถ่ายรูปในบริเวณบ้านไร่ต่อ มื้อเช้าเป็นขนมจีน น้ำยาใต้ แกงไตปลา และน้ำพริก มาพร้อมไข่ต้ม ส่วนของเด็ก ๆ เป็นข้าวเหนียวไก่ย่าง เลือกน้ำสมุนไพร กาแฟ หรือโอวัลตินได้คนละหนึ่งแก้ว แถมมีปาท่องโก๋ ข้าวเหนียวสังขยา ข้าวต้มมัด ขนมถ้วยให้มาเพิ่มอีกหนึ่งถาด ตบท้ายด้วยแตงโม อิ่มจนเกือบลืมมื้อกลางวันกันเลยทีเดียว
เดิมที คุณแม่ติดตามเพจ บ้านไร่ไออรุณ มานาน ตั้งแต่ยังไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่าง และเคยคุยกับคุณพ่อว่าเราน่าจะหาโอกาสไปชื่นชมในความสำเร็จของลูกชายคนหนึ่งที่มีความฝันและความเพียรพยายามทำฝันให้เป็นจริง จนสร้างความภาคภูมิใจให้ตัวเองและพ่อแม่ได้ในที่สุด และเมื่อได้มาพักทีนี่จริง ๆ เราได้เห็นทั้งธรรมชาติในส่วนของแปลงผัก สวนปาล์ม และลำธารที่ไหลผ่าน แต่ก็ยังไม่ประทับใจมากเท่ากับความเป็นธรรมชาติในการต้อนรับขับสู้ผู้มาเยือนอย่างอบอุ่นเป็นกันเอง ของน้องเบส พี่เร คุณพ่อและคุณแม่ ซึ่งทำให้เรารู้สึกเหมือนไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่หรือคนรู้จักมากกว่าไปนอนค้างต่างถิ่น
ในขณะเดียวกัน เราได้ถือโอกาสสอนลูกให้ฟังเพลงธรรมชาติยามค่ำคืน ดูจันทร์ มองดาว พูดคุยกับลูกให้ฟังเสียงธรรมชาติในตัวเอง ยกให้พี่เบสเป็นตัวอย่างเพื่อต่อไปลูกจะได้มุ่งมั่นทำในสิ่งที่ตั้งใจอย่างมีความสุข และชี้ให้เห็นถึงความสำนึกรักบ้านเกิดของพี่เบส ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างบ้านไร่ขึ้นมาอย่างพอดีเพื่อคนในครอบครัว แต่ยังชวนคนบ้านใกล้เรือนเคียงให้มามีส่วนร่วม ช่วยสร้างรายได้ให้คนที่มาทำงานที่บ้านไร่ รวมถึงเกษตรกร และชาวประมงในพื้นที่ ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้มาเยือนได้กลับไปพร้อมกับความอิ่มเอมใจอีกด้วย
ในทางกลับกัน คุณแม่มองว่าผู้มาเยือนอย่างเรา ๆ ก็เป็นส่วนเติมเต็มความฝัน ความรัก และความอบอุ่นให้คนที่นี่เช่นกัน เราคือกำลังใจดี ๆ เป็นรางวัลสำหรับความเหน็ดเหนื่อยและความตั้งใจดี เพื่อคนที่นี่จะได้มีพลังในการทำดีต่อ ๆ ไป
การเดินทางของครอบครัวไม่ใช่เพียงเพื่อการเที่ยวสนุกและมีความสุขร่วมกัน แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้ระหว่างนั้นต่างหากที่ทำให้การเดินทางของเรามีความหมายมากยิ่งขึ้น
บ้านไร่ไออรุณสอนให้เราเข้าใจว่า “พอแล้วดี มีแล้วแบ่งปัน”
Imagery: Baan rai I Arun familygallery and Baan rai I Arun resortgallery
Leave a Reply