เก้าเดือนที่ผ่านมา คุณแม่สังเกตเห็นความกระตือรือร้นและความสม่ำเสมอของลูกชายทั้งสองคนในการเล่นและซ้อมดนตรีมาโดยตลอด ช่วงปิดเทอม ลูกเข้าห้องซ้อมตีกลอง (คนโต) และเล่นกีตาร์ (คนเล็ก) ด้วยกันแบบตรงเวลาทุกวัน
เปิดเทอมมามีเวลาน้อยลง แต่ก็ยังคงเห็นลูกปลีกตัวเข้าห้องดนตรีอยู่เรื่อย ๆ ลูกคนเล็กถึงบ้าน อาบน้ำ เล่นกีตาร์ แล้วลงมากินข้าว ลูกคนโตกินข้าวเสร็จแล้วขึ้นไปตีกลอง สักพักน้องตามขึ้นไปสมทบ แล้วแยกย้ายกันไปทำการบ้าน
วันไหนครูสอนดนตรีลาหรือโรงเรียนหยุด ลูกถึงกับเซ็งเพราะมีเอฟเฟกต์บางอย่างที่อยากให้ครูสอนเป็นพิเศษ แต่ต้องรอจนกว่าจะถึงวันเรียนสัปดาห์ต่อ ๆ ไป
คุณแม่เล่นดนตรีไม่เป็นและร้องเพลงเพี้ยนผิดคีย์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร เมื่อเห็นลูกชอบเล่นดนตรี ก็อยากมีส่วนร่วมกับลูก ช่วงแรกลองหยิบหนังสือเข้าไปนอนอ่านที่โซฟาเบดในห้องดนตรีบ้าง ขอลูกถ่ายคลิปบ้าง คุณพ่อเองก็ไม่น้อยหน้า หยิบโน้ตบุ๊กเข้าไปนั่งอ่านอีเมลบ้าง ขอร้องเพลงบ้าง แต่ก็ดูเหมือนว่าเราจะเป็นส่วนเกินสำหรับลูก สุดท้ายคุณพ่อกับคุณแม่เลยปล่อยให้ลูกใช้เวลาและพื้นที่แห่งความสุขเพื่อกระชับความสัมพันธ์ร่วมกันตามลำพังสองพี่น้อง
ทว่าคุณแม่ยังไม่ละความพยายามที่จะได้มีส่วนร่วมกับลูกสักนิดก็ยังดี ขอ (แกมงอน) ให้ลูกอัดคลิปตอนเล่นดนตรีส่งให้คุณแม่ดูบ้าง คุณแม่อยากเปิดฟังตอนออกกำลังกาย สิริรวมได้มา 3 เพลงใน 9 เดือน (ไม่นับคลิปย่อย ๆ) แต่ละคลิปลูกดูเกร็งมาก คงอายนิด ๆ และแอบหวั่นใจหน่อย ๆ ว่าคุณแม่จะส่งให้ใครดูบ้าง
เมื่อคืนคุณแม่คุยกับคุณพ่อสั้น ๆ ก่อนนอน ถึงจุดประสงค์ที่เราสนับสนุนให้ลูกเรียนและเล่นดนตรี คุณพ่อบอกว่าให้ลูกเล่นดนตรีเป็นงานอดิเรก เล่นสนุก ๆ ไม่อยากให้ลูกเครียด ไม่เน้นใบประกาศนียบัตรหรือเกียรติบัตรใด ๆ เน้นใบหน้าที่มีความสุขของลูกเท่านั้นพอ คุณแม่เห็นด้วย
คุณพ่อหลับไปแล้ว คุณแม่ยังนอนคิดต่อ เพราะเคยอ่านบทความว่าด้วยประโยชน์จากการเล่นดนตรีสำหรับวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนที่ดีขึ้นโดยเฉพาะวิชาเลข เพิ่มทักษะในการเข้าสังคม สร้างความมั่นใจในตัวเอง ลดความเสี่ยงในการใช้ยาเสพติด (นัยว่าใช้เครื่องดนตรีช่วยจัดการภาวะทางอารมณ์และความเครียดได้) มีระเบียบวินัยมากขึ้น รู้จักแสดงความรู้สึกนึกคิดของตนเอง มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะในการประสานการใช้สายตา-สมอง-มือ ไปจนถึงสามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ดี
คุณแม่ไม่ได้จะบอกว่าวัยรุ่นที่บ้านได้ประโยชน์ครบถ้วนทุกประการตามข้อมูลข้างต้น แต่อันที่จริงแล้วก็ถือว่าใช่เป็นส่วนใหญ่
ที่ผ่านมาคุณแม่สังเกตเห็นว่าดนตรีช่วยคลายเครียดให้ลูกชายคนโตได้มาก เพราะตั้งแต่ย้ายโรงเรียนมา ลูกมีการบ้านและงานกลุ่มมากขึ้น แต่ลูกยังแบ่งเวลามาตีกลองกับน้องได้เสมอ แม้ว่าภาระงานและการบ้านจะมากแค่ไหนก็ตาม (เรื่องความเป็นระบบระเบียบที่สุดในบ้านนั้น ลูกคนโตเป็นอยู่แล้ว คงไม่ใช่เพราะเล่นดนตรี)
ส่วนลูกคนเล็ก จากเดิมเคยเป็นเด็กใจร้อน หลัง ๆ มานี้ใจเย็นขึ้นมาก มีความอดทนรอคอยมากกว่าเดิม และมีสมาธิดีขึ้น ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะดนตรีหรือเพราะลูกโตขึ้น อาจจะทั้งสองอย่างรวม ๆ กัน (ตอนนี้คุณแม่เลยขึ้นแท่นใจร้อนที่สุดในบ้านไปโดยปริยาย)
เหนือสิ่งอื่นใดคือสองพี่น้องมีกิจกรรมทำร่วมกัน จากที่สนิทและรักกันอยู่แล้ว ยิ่งสนิทตัวติดกันมากยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก
คุณแม่มั่นใจว่าแม้จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว พื้นที่แห่งความสุขนี้จะยังคงอยู่กับลูกชายทั้งสองคนตลอดไป
(Πr2 = Pi x Rak x Rome)
Leave a Reply