เมื่อลูกยังเล็ก คุณแม่มองว่าการเดินทาง ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล คือศิลปะในการสร้างสายใยแห่งรักให้ครอบครัว (The Art of Family Bonding Through Travelling) และมันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ สำหรับครอบครัวของเรา เพราะความทรงจำและความประทับใจต่าง ๆ ล้วนเกิดขึ้นระหว่างทาง ในรูปแบบของการเรียนรู้โลกกว้าง ที่ไม่ได้หมายถึงสถานที่ซึ่งต่างออกไปจากที่บ้านเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงผู้คน สังคม ศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณีที่ต่างออกไปด้วย
เมื่อลูกโตขึ้น การเดินทางฉบับครอบครัวเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เพราะลูกมีความคิดเป็นของตัวเอง มีความชอบที่ชัดเจน มีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้นในบ้าน จะขอให้ลูกตามไปทุกที่แล้วแต่พ่อแม่จะพาไปเหมือนเมื่อครั้งยังเด็กไม่ได้อีกต่อไป การเดินทางแต่ละครั้งเกิดจากความสมัครใจของทุกคน หลายครั้งก็ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถในการโน้มน้าวใจของคนใดคนหนึ่ง หรือทีมใดทีมหนึ่ง แต่ถ้าทุกคนตกลงใจว่าจะไป สิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางคือความรับผิดชอบร่วมกัน เพราะถือว่าเราตัดสินใจร่วมกันตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง
ทริปตามรักที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ คุณแม่เห็นการเติบโตทางความคิดและอารมณ์ของพี่รักอย่างชัดเจน (รวมถึงเห็น Hidden Agenda ของลูกด้วย)
เรานั่งรถไฟจากเกียวโตมาถึงโตเกียวเกือบบ่ายสาม ในตารางเดินทางไม่ได้บอกไว้ว่าจะไปที่ไหน แต่ Yamaha Ginza Musical Instrument Store อยู่ห่างจากที่พักเพียง 150 เมตร เดิน 2 นาทีถึง พี่รักนำทางพาน้องโรมไปดูกีตาร์กับกลองที่ชั้นใต้ดิน เราอยู่ที่นั่นนานพอสมควร น้องโรมได้ลองเล่นทั้งกีตาร์ไฟฟ้าและกีตาร์โปร่ง มีความสุขมากทีเดียวเพราะไม่ได้จับกีตาร์มาหลายวัน
วันรุ่งขึ้นตารางค่อนข้างแน่น ก่อนนอนพี่รักจะนัดเวลาออกจากที่พักของวันถัดไป ทุกเช้าจะเปิดแอปหาเส้นทางแล้วเดินนำทางไปกับคุณพ่อ ส่วนคุณแม่กับน้องโรมเดินตามตลอดตั้งแต่เช้ายันเย็น
พอคุณแม่หันไปถามน้องโรมว่าเรากำลังจะไปไหนกันครับ (ตารางเดินทางที่มีเป็นแบบคร่าว ๆ พี่รักกับคุณพ่อจะเปลี่ยนลำดับสถานที่ตามความเหมาะสมในแต่ละวัน) น้องโรมก็หันกลับมาตอบหน้านิ่งว่า ไม่รู้ครับ (พอกันเลย ไม่รู้อะไรสักอย่าง เป็นผู้ตามรักที่ดีมากทั้งคุณแม่และน้องโรม)
คุณแม่วิ่งไปถามพี่รักกับคุณพ่อที่เดินนำหน้าอยู่หลายก้าว ถึงรู้ว่าที่แรกของวันนี้คือ Kichijoji Loft ซึ่งกำลังจัดนิทรรศการเกี่ยวกับโคนันอยู่ มีเครื่องเขียนและของใช้ลายโคนันเต็มไปหมด ที่ร้านอนุญาตให้ซื้อได้คนละไม่เกิน 10 ชิ้น คุณแม่เพิ่งมารู้ทีหลังว่าลูกหาข้อมูลมาอย่างดี เพราะหลังจากนี้เค้าจะย้ายไปจัดนิทรรศการที่ฮอกไกโด (ตอนแรกก็แอบคิดว่าลูกคงจะตั้งใจพาคุณแม่มาดูเครื่องเขียนที่คุณแม่ชอบแหละ ที่ไหนได้)
จากนั้นนั่งรถไฟไป Kinokuniya Shinjuku Main Store ลูกได้หนังสือมาสองเล่ม คุณแม่ถามว่าอ่านภาษาญี่ปุ่นออกเหรอครับ ลูกตอบว่าหนังสือภาพน่ะครับ แล้วบอกให้คุณแม่ไปดูหนังสือโซนภาษาอังกฤษอีกตึกนึงได้เลย (ประมาณว่าขอลูกอยู่คนเดียวสักครู่ครับ) ส่วนคุณพ่อกับน้องโรมพากันไปนั่งรอที่ร้านอาหาร
เสร็จจากร้านหนังสือแล้ว ที่จริงจะต้องไป Pokemon Center Tokyo DX ต่อ แต่พี่รักเห็นน้องโรมกับคุณพ่อเริ่มจะเบื่อ เลยพาน้องไป Ocha no mizu (แหล่งขายกีตาร์และเครื่องดนตรี) ให้ได้ตื่นตาตื่นใจและอารมณ์ดีขึ้นก่อน น้องโรมเดินเข้าออกวนไปร้านละสองรอบ ไม่เมื่อยขาเลยแม้แต่น้อย แต่ไม่ได้ซื้อกีตาร์กลับมาสักตัวแม้ว่าราคาจะถูกกว่าที่กรุงเทพฯ มาก เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาตอนขึ้นเครื่อง จะโหลดก็ต้องซื้อเคสแข็งซึ่งราคาค่อนข้างแพง จะเสี่ยงถือขึ้นเครื่องก็ไม่รู้ว่าจะเจอเจ้าหน้าที่ใจดีอนุญาตให้ถือขึ้นเครื่องหรือเปล่า สรุปว่าตัดใจไม่ซื้อแบบเซ็ง ๆ กว่าจะยอมรับเหตุผลได้ก็เดินเงียบอยู่เป็นชั่วโมงเหมือนกัน
แล้วเราก็เดินตามพี่รักขึ้นรถไฟไปโผล่ที่ Pokemon Center Tokyo DX คุณแม่แอบสงสัยว่าพี่รักยังบ้าโปเกมอนอยู่อีกหรือ มารู้ทีหลังว่าลูกมาซื้อพวงกุญแจฝากเพื่อน 2 พวง (มาไกลพอสมควรเพื่อสิ่งนี้) ทำเอาน้องโรมหงุดหงิดเล็กน้อย เพราะพาน้องตะลอนมาหลายที่ คุณพ่อกับน้องโรมไปนั่งรอที่คาเฟ่เหมือนเดิม
ที่สุดท้ายของวันนี้คือ The Gundam Base Tokyo ที่ Diver City พี่รักเห็นสภาพน้องแล้วบอกว่าไม่ไปดีกว่า แต่น้องโรมบอกไปได้ (เพื่อพี่รัก) น้องโรมเดินตามไหว น้องก็รักพี่ พี่ก็ห่วงน้อง นี่คือสิ่งที่คุณแม่เห็นตลอดการเดินทาง
เป็นอันว่าพี่รักไล่ตามหาสิ่งที่ชอบจนครบจบภายในหนึ่งวัน เหลืออีกสองวัน พี่รักพาคุณแม่ไป Gundam Factory ที่ Yokohama และพาน้องไป Mishima Skywalk ที่ Shizuoka
พี่รักเป็นผู้นำทริปที่ดี ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ทั้ง Google Map และแอปต่าง ๆ สารพัด รู้จักคำนวณเวลา เส้นทาง ค่าเดินทาง ซื้อตั๋วรถไฟ (ที่ JR Pass ไม่ครอบคลุม) จากเครื่อง จองที่นั่งออนไลน์ (JR Green Pass ) พิมพ์ตั๋วที่จองไว้ได้เองจากเครื่อง (ทริปก่อน ๆ คุณพ่อจะต่อคิวรอให้เจ้าหน้าที่พิมพ์ให้) สื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้บางคำ (พกหนังสือสอนภาษาญี่ปุ่นสำหรับนักท่องเที่ยวติดไปด้วย) แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี คอยสังเกตอาการของทุกคน (คุณพ่อเริ่มปวดหลัง เจ็บเข่า น้องโรมเริ่มเหนื่อย เจ็บเท้า ช่วยคุณแม่ถือของ ช่วยน้องแบกเป้ เล่นกับน้อง ให้น้องลืมเหนื่อย) มีความยืดหยุ่นสูง ปรับการเดินทางเพื่อเอาใจคุณแม่กับน้อง แต่ก็ยังห่วงคุณพ่อ
น้องโรม แม้จะบ่นเมื่อยเท้าทุกวัน วันละหลายรอบ แต่ก็อดทน และจะอดทนเป็นพิเศษเมื่อได้ไปสถานที่โปรดของตัวเอง (คุณพ่อเพิ่งมารู้ว่าส่วนที่หนุนอุ้งเท้าสึกหมดแล้ว ตอนที่ลองเปลี่ยนมาใส่รองเท้าน้องโรม เลยพาลูกไปเดินหาซื้อรองเท้าใหม่ สุดท้ายลูกเลือกซื้อแผ่นรอง/เสริมใส่ในรองเท้าแทน)
คุณพ่อ แม้ร่างกายจะไม่เต็มร้อย ปวดหลังบ้าง ปวดเข่าบ้าง แต่ก็ยังติดสอยห้อยตามลูกไปทุกแห่ง ไปยืนรอบ้างไปนั่งรอบ้าง ก็ยินดีจะไปกับลูก กลับถึงที่พัก ลูกมาสลับกันนวดให้พ่อ เท่านี้ก็มีแรงเดินต่อแม้ต้องใช้ร่มเป็นไม้เท้าก็ตาม นี่คือความรัก/ความสุขของคุณพ่อ
คุณแม่ตามลูกไปทุกที่เช่นกัน แม้ลูกจะบอกให้คุณแม่แยกไปเดินเองบ้างในบางครั้ง คุณแม่บอกกลัวหลง ลูกบอกถ้าหลงให้โทรหา ลูกจะอยู่แถวนี้ (นัยว่าลูกเดินหาของให้เพื่อน แต่ไม่อยากให้คุณแม่รู้ อ่ะ ตามใจ) คุณแม่พก Scrapbook ติดตัวไปทุกที่ ส่วนใหญ่จะหยิบออกมาทำตอนนั่งรถไฟข้ามเมือง นี่คือความรัก/ความสุขของคุณแม่
ตอนนี้เรากลับถึงบ้านกันแล้ว ระหว่างเดินทาง คุณพ่อยังทำงาน ทั้งตอบอีเมลและรับโทรศัพท์ ส่วนลูกค้าของคุณแม่เงียบไปเพราะคุณแม่แจ้งล่วงหน้าแล้วว่าจะไม่เช็คอีเมล พอเปิดประตูเข้าบ้านปุ๊บ อีเมลเข้ามาปั๊บ ต้องส่งงานวันจันทร์ ถ้ามีเวลาคุณแม่จะเขียนบันทึกการเดินทางของสองวันที่เหลือเพิ่มเติมทีหลัง ตั้งใจจะบันทึกทุกอย่างให้ครบระหว่างเดินทาง แต่ทำไม่ได้ เพราะเดินแบกเป้ตามลูกวันละ 15,000-17,000 ก้าวทุกวัน กลับถึงที่พักก็รีบอาบน้ำ รีบนอน ให้ร่างกายได้เตรียมพร้อมสำหรับวันต่อไป
วันนี้พี่รักไปเข้าค่ายหุ่นยนต์กับที่โรงเรียน น้องโรมนัดซ้อมกีตาร์กับครู ทุกคนกลับมาทำหน้าที่ของตัวเอง จากนี้ไปเราคงหาเวลาว่างตรงกันได้ค่อนข้างยาก ยิ่งลูกโต กิจกรรมยิ่งเยอะ พออยู่คนละโรงเรียน ก็ปิดเทอมไม่พร้อมกันอีก และไม่รู้ว่าลูกยังอยากเดินทางไปที่ต่าง ๆ กับพ่อแม่อีกนานแค่ไหน นี่คือหนึ่งในเหตุผลเบื้องหลังการเดินทางครั้งนี้
คุณแม่หวังว่าลูกจะรู้ว่าตัวเองชอบอะไร และไล่ตามความชอบในชีวิตจริงของตัวเองได้สำเร็จ แม้จะมีอุปสรรคให้ฟันฝ่า หรือมีเรื่องให้ผิดหวังบ้าง เหมือนกับทริปตามรักที่ญี่ปุ่นในครั้งนี้นะครับ รักและต่อรัก
Leave a Reply