วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม 2563
วันนี้เป็นสุดท้ายของการปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2562 คุณแม่ถือโอกาสปลีกเวลาจากงานแปลมาเขียนบันทึกเพื่อสรุปการเดินทาง (ที่บ้าน) อันยาวนานถึง 4 เดือนของครอบครัวเรา ก่อนถึงจุดหมายปลายทาง (โรงเรียน) ที่ทำให้ทุกคนในบ้านต้องเปลี่ยนจังหวะการใช้ชีวิตใหม่อีกครั้งตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 วันแรกของลูกชายคนโต (สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกรกฎาคม) ในขณะที่โรงเรียนของลูกชายคนเล็กเลื่อนเปิดเทอมไปอีก 1 สัปดาห์ (สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกรกฎาคม)
ย้อนกลับไปเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ลูกชายสองคนกำลังนั่งอ่านหนังสือเตรียมสอบปลายภาคอยู่ที่บ้าน คุณแม่ได้รับข้อความทางไลน์จากโรงเรียน ประกาศยกเลิกสอบปลายภาค เนื่องจากมีความเสี่ยงที่นักเรียนบางคนอาจติดเชื้อโคโรนาไวรัสจากคนในครอบครัวและมาแพร่เชื้อต่อให้เพื่อน ๆ ได้ ในระหว่างที่ผู้ปกครองพูดคุยซักถามกันเองบ้างผ่านคุณครูบ้างด้วยความกังวล โรงเรียนได้ตัดไฟแต่ต้นลม ประกาศปิดโรงเรียนแบบไม่ทันตั้งตัว โดยจะประเมินผลการเรียนจากการสอบย่อย คะแนนเก็บ และการทำโครงงานที่ผ่านมาทั้งหมดตลอดภาคเรียน เด็ก ๆ ดีใจกันยกใหญ่ จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีใครทราบผลการเรียนของลูกเลย
ปลายปีที่แล้ว ครอบครัวของเราวางแผนการเดินทางสำหรับช่วงปิดเทอมใหญ่ไว้ 2 ทริป แบบขับรถ 1 ทริป (10 วัน) แบบนั่งเครื่องอีก 1 ทริป (16 วัน) สรุปว่าต้องพับไปทั้ง 2 ทริป และโครงการทำ Family Scrapbook ระหว่างเดินทาง แล้วนำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือส่งความสุขตอนสิ้นปี จึงต้องล้มเลิกไปด้วย
จากท่องโลกกว้างกลายเป็นเที่ยวที่บ้านโดยฉับพลัน
ระหว่างทาง
ในช่วงเดือนแรก (เดือนมีนาคม) กิจกรรมหลักของสมาชิกแต่ละคนไม่ต่างจากช่วงเวลาปกติสักเท่าไหร่ คุณพ่อยังไปทำงานตามปกติ คุณแม่ยังทำงานแปลที่บ้านตามปกติ (เว้นแต่มีงานแปลสัญญาเข้ามามากผิดปกติ) ส่วนลูกก็ยังเรียนพิเศษตามที่วางแผนไว้ก่อนปิดเทอม เพียงแต่เปลี่ยนจากไปเรียนนอกบ้านเป็นเรียนออนไลน์ที่บ้านคนละ 2 ชั่วโมง ประหยัดเวลาเดินทางไปได้มาก
หน้าที่หลักของคุณแม่ในช่วงนี้คือทำกับข้าวทุกมื้อ ทุกวัน และมอบหมายให้ลูกทำงานบ้านอื่น ๆ ที่เหลือแทนคุณแม่ เป็นต้นว่า ซักผ้า ตากผ้า พับผ้า ล้างจาน กรอกน้ำ ช่วงบ่ายต้น ๆ ลูกสองคนดูหนัง รายการทีวี และช่องยูทูบ ช่วงบ่ายแก่ ๆ คุณแม่หยุดแปลงานเพื่อมาอ่านหนังสือกับลูก ตกเย็นมา คุณแม่เริ่มทำกับข้าว ส่วนลูกพากันออกไปตีปิงปองที่โรงรถ รอคุณพ่อกลับบ้านมาร่วมวงด้วย พอหกโมงเย็นก็เข้าบ้าน อาบน้ำ เตรียมตัวกินมื้อเย็น
เดือนต่อมา (เดือนเมษายน) กิจกรรมทุกอย่างเหมือนเดิม ยกเว้นคุณพ่อถูกกักตัวอยู่ที่บ้าน 14 วัน เพราะมีแนวโน้มที่เพื่อนร่วมงานอาจติด COVID-19 จากคนใกล้ชิดที่ไปสนามมวยมา ช่วงนั้นคุณพ่อทำงานที่บ้าน แยกห้องทำงาน แยกห้องนอน แยกห้องน้ำ แยกข้าวของเครื่องใช้ทั้งหมดจากทุกคนในบ้าน อยู่บ้านก็เหมือนไม่อยู่ แทบไม่ได้เจอหน้ากัน คนที่น่าสงสารที่สุดคือลูกชายคนเล็ก เพราะถูกห้ามเคล้าคลอนัวเนียกับคุณพ่อ ซึ่งปกติจะตัวติดกันตลอด กว่าจะผ่าน 14 วันไปได้ ลูกต้องยับยั้งชั่งใจเป็นอย่างมาก บางครั้งถึงกับเอ่ยปากว่า ถ้าคุณพ่อติดเชื้อมา ก็ให้ทุกคนในบ้านติดกันไปให้หมดทุกคนนั่นแหละ ประกันก็มีครบทุกคนแล้ว อยากกอดคุณพ่อ แงแง แต่ไม่มีใครเห็นด้วยกับลูกเลย ในท้ายที่สุดลูกจึงต้องรอจนครบ 14 วัน
งานแปลของคุณแม่เริ่มเปลี่ยนเนื้อหาจากสัญญาเป็นบทความเกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน การทำงานไปเลี้ยงลูกไป เป็นงานแปลที่อินเทรนด์และสนุกมาก สลับกันไปกับคู่มือการใช้งานและการซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าที่มีมาแบบไม่จบไม่สิ้น นึกไม่ออกเลยว่าถ้าไม่ได้ยกเลิกทริปครอบครัวช่วงปิดเทอมไป คุณแม่จะบริหารจัดการงานแปลเหล่านี้ได้อย่างไร (แค่ไม่รับงานก็จบแหละ)
ช่วงกลางเดือนนี้ เราเริ่มปลูกผักกันแล้ว ทั้งมะนาว กระเพรา พริก มะเขือยาว แต่ได้เก็บมาใช้จริงแค่ใบกระเพราเท่านั้น นอกนั้นไม่มีทีท่าว่าจะรอด โชคดียังมีมะม่วงน้ำดอกไม้ของคุณยายให้เก็บกินได้เรื่อย ๆ ทุกวัน
พอถึงปลายเดือน มีเพื่อนชวนให้โพสต์ภาพสถานที่ท่องเที่ยวที่เคยไปมาต่อเนื่องกัน 14 วัน 14 แห่ง เหมือนได้กลับไปเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ กันอีกครั้ง คุณแม่เริ่มด้วยทริปฮันนีมูน ไล่มาเรื่อย ๆ จนถึงวันสุดท้ายเป็นที่บ้าน ลูกชายสองคนบอกว่าบ้านเราน่าอยู่จัง “ครับ ปีนี้ เราเลยเที่ยวที่บ้านกันยาวนานเลย” คุณแม่กล่าว
พอเข้าเดือนที่สาม (เดือนพฤษภาคม) คุณพ่อเริ่มทำงานที่บ้านทุกวัน ประชุมอุตลุดทั้งวัน ทุกวัน แลดูเหนื่อยหนักกว่าไปทำงานตามปกติเสียอีก แถมยังต้องเข้าร่วมการฝึกอบรมที่ถูกยกเลิกทริปไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม เปลี่ยนมาเป็นการฝึกอบรมออนไลน์ในเดือนนี้ สมาชิกส่วนใหญ่อยู่ยุโรป มีคนเข้าร่วมจากอเมริกา 2 คน และมีคุณพ่อกับเพื่อนอีกหนึ่งคนอยู่เอเชีย คุณพ่อเข้าคลาสบ่ายโมงถึงเที่ยงคืน เสร็จแล้วต้องต่อด้วยการทำงานเดี่ยวบ้าง งานกลุ่มบ้าง เพื่อเตรียมนำเสนอช่วงบ่ายวันรุ่งขึ้น เป็นแบบนี้อยู่ 1 สัปดาห์ โดยมีงานประจำที่กรุงเทพฯ แทรกเป็นระยะ ๆ น่าสงสารที่สุด
คุณแม่ยังคงวนเวียนอยู่กับงานแปลคู่มือสลับกับบทความเกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน แต่ยังพอมีเวลาอ่านหนังสือกับลูกอยู่เหมือนเดิม สลับกับให้ลูกอ่านเองบ้าง คุณแม่แอบหลับบ้าง เพราะมึนกับงานแปลเต็มที อาศัยการทำกับข้าวเป็นช่วงเวลาผ่อนคลายจากงานแปลได้บ้าง แต่จะดีกว่านี้ถ้ามีคนช่วยคิดรายการอาหารให้ ถามสมาชิกในบ้านทีไร คำตอบคือแล้วแต่คุณแม่ทุกที
ลูก ๆ ยังคงรับผิดชอบงานบ้าน ดูทีวี ตีปิงปองเหมือนเดิม และเริ่มหากิจกรรมอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น เล่นไพ่ วิดพื้น แพลงกิ้ง กระโดดเชือก ฯลฯ
ช่วงปลายเดือน ลูกชายคนโตเริ่มเรียนออนไลน์แบบสดกับคุณครูที่โรงเรียนสัปดาห์ละ 4 วัน วันละ 2 ชั่วโมง วัตถุประสงค์ในการเรียนออนไลน์ของโรงเรียนชัดเจน คือ การเสริมสร้างทักษะการวิเคราะห์ปัญหา การแก้ไขปัญหา การสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้อื่น การใช้เทคโนโลยี การใช้ภาษาอังกฤษ และการจัดสรรเวลาให้เกิดประโยชน์ (ไม่เน้นวิชาการ)
ผลจากการเรียนออนไลน์แบบสดของลูก คือ คุณแม่ถูกยึดห้องทำงาน เพราะลูกต้องการความเป็นส่วนตัวในการเรียนและพูดคุยกับคุณครูและเพื่อน ลูกชายคนเล็กหงอยเหงา เพราะพี่ชายไม่เพียงหลบไปเรียนออนไลน์วันละ 2 ชั่วโมง แต่ยังต้องทำงานเดี่ยวบ้าง งานกลุ่มบ้าง ส่งครูทุกสัปดาห์ โดยใช้เวลาหาข้อมูลและทำ Infographic Presentation อีกอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ขนาดคุณแม่อยู่เป็นเพื่อนลูกคนเล็กแล้ว ลูกยังถามตลอดว่าเมื่อไหร่พี่ชายจะทำงานเสร็จ นี่มันนานมากเกินไปแล้ว
เดือนที่สี่ (เดือนมิถุนายน) คุณพ่อกลับไปทำงานตามปกติ คุณแม่มีงานแปลคู่มือด่วนเข้าตั้งแต่ต้นเดือน ลากยาวถึงสิ้นเดือน ตอนเช้าต้องตื่นมาทำมื้อเช้า เตรียมข้าวกล่องมื้อกลางวันและผลไม้ให้คุณพ่อไปกินที่ทำงาน คุณแม่เริ่มออกกำลังกายจริงจัง ทั้งที่ตั้งใจจะเริ่มในเดือนถัดไป แต่ลูกชายคนโตฟันธงหนักแน่นว่าคุณแม่ต้องเริ่มเลย ไม่ควรรอ คุณแม่ก็ยอมแต่โดยดีเพราะไม่มีเสื้อผ้าจะใส่แล้ว (ลูกซักผ้าท่าไหนไม่รู้ เสื้อผ้าของคุณแม่หดหมดทุกตัวเลย)
ลูกชายคนเล็กเริ่มเรียนออนไลน์บ้าง แต่สัปดาห์แรกเรียนจากคลิปวิดีโอที่คุณครูที่โรงเรียนส่งมาให้ วิชาละ 10 นาที ลูกเรียนรวดเดียวจบ 4 วิชา สัปดาห์ที่ 2 เป็นการเรียนออนไลน์แบบสอนสด พี่ชายมาช่วยน้องชายเซ็ตอัป Microsoft Team วันแรกเข้าผิดลิงก์ ไม่ได้เรียน คุณครูประจำชั้นบอกให้เรียนวันอื่นแทนได้ คุณครูวางแผนมาดีมาก วิชาเดียวกันแต่มีสอนออนไลน์แบบสด 3 ครั้งใน 1 สัปดาห์ ให้นักเรียนเลือกเวลาเข้าเรียนได้ตามสะดวก ลูกชายคนเล็กยอมให้คุณแม่นั่งทำงานในห้องขณะที่ลูกเรียนด้วย เห็นความทุ่มเทของคุณครูแต่ละท่านแล้ว น่าชื่นชมจริง ๆ
เพื่อนร่วมทาง
ตลอดการเดินทาง (ที่บ้าน) ผ่านวิกฤติ COVID-19 เป็นเวลา 4 เดือน นอกจากคุณพ่อที่ออกจากบ้านไปทำงานเดือนกว่า ๆ ก็มีคุณแม่ที่ออกไปธุระเฉลี่ยเดือนละครั้ง และยกเลิกนัดประจำปีกับหมอหูคอจมูกไปไม่มีกำหนด ส่วนลูกชายคนโตไปหาหมอฟัน 1 ครั้ง หลังจากโรงพยาบาลโทรมาเลื่อนนัดไปแล้วก่อนหน้านี้ ส่วนลูกชายคนเล็กไม่ได้ออกไปไหนเลย
บ้านเราเกือบเป็นบ้านปิด ไม่มีใครไปมาหาสู่ ยกเว้นแม่บ้านที่ปกติมาทำงานบ้านสัปดาห์ละ 3 วัน แต่ช่วงที่ผ่านมา อนุญาตให้แม่บ้านเข้ามาทำความสะอาดได้สัปดาห์ละ 1 วัน โดยต้องใส่ผ้าปิดปากตลอดเวลาที่ทำงาน มีคุณยายมาอยู่ดูแลหลาน 2-3 สัปดาห์ครั้ง มีบุรุษไปรษณีย์และคนส่งพัสดุมาส่งของโดยการวางของไว้หน้ารั้ว ลูกชายคนโตเดินออกไปพ่นแอลกอฮอล์ ตากแดดทิ้งไว้สักพักตามแต่ลูกจะเห็นสมควร แล้วจึงนำเข้าบ้านได้
คุณแม่เริ่มติดต่อเพื่อน ๆ ตั้งแต่เดือนแรกที่เกิดสถานการณ์ COVID-19 เริ่มจากเพื่อนใกล้ตัวที่มีทีท่าว่าจะไม่ยกเลิกทริปไปต่างประเทศ คุยกันไปมาจนสถานการณ์บังคับ เพื่อนอดไป หายห่วง ตามด้วยส่งไลน์หาเพื่อนที่อังกฤษ ซึ่งพอนายกฯ ที่นั่นประกาศนโยบาย Herd Immunity เพื่อนรีบหาตั๋วกลับไทยด่วน ๆ ถึงไทยอย่างปลอดภัยภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นส่งอีเมลหาเพื่อนที่เยอรมนี ติดตามข่าวเพื่อนที่ญี่ปุ่นและอเมริกาจาก Facebook ทุกคนปลอดภัยดี อยู่บ้านดูแลตัวเองเป็นอย่างดีไม่ต่างจากเรา
ไม่ใช่แค่เราที่ห่วงเพื่อน เพื่อน ๆ และญาติ ๆ ก็ห่วงเราเช่นกัน ตลอดเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา ครอบครัวเราได้รับน้ำใจจากผู้คนมากมาย ทั้งหน้ากากอนามัยจากกระบี่ แอลกอฮอล์และขนมจากมหาชัย เจลล้างมือ สเปรย์ฆ่าเชื้อ และผ้าปิดปากจากรังสิต ปลาสลิดจากปากน้ำ แกงส้มจากลาซาล ทุเรียนจากสำโรง ปลาดุกฟูผัดพริกขิงและกุนเชียงจากพระรามเก้า (ขออภัยหากกล่าวถึงไม่ครบทุกคน)
ในขณะเดียวกันเราก็ส่งน้ำใจของเราให้ผู้อื่นเช่นกัน ซึ่งนอกจากขนม ของกิน และเงินบริจาคแล้ว คุณแม่ยังส่งต่อหนังสืออีกหลายเล่มให้หลาย ๆ คน ได้มีทางเลือกในการใช้เวลาที่บ้านอย่างเพลิดเพลินยิ่งขึ้น (รวมแล้วส่งหนังสือบ่อยกว่าอย่างอื่น)
ของที่ระลึก
แน่นอนอยู่แล้วว่าไปเที่ยวทั้งที ต้องมีของฝาก ของที่ระลึก หรือชอปปิงของติดไม้ติดมือกันบ้างเป็นธรรมดา การเที่ยวที่บ้านไม่มีสิ่งใดมาเป็นอุปสรรคขัดขวางการชอปปิงออนไลน์ของเรา
ถ้าไม่นับการจ่ายตลาดออนไลน์สัปดาห์ละ 1 ครั้งของคุณแม่ที่รวม ๆ แล้วเป็นรายจ่ายสูงสุดในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (เพราะเป็นของกินของใช้สำหรับทุกคนในบ้าน นมทุกมื้อ อาหารทุกมื้อ รวมอยู่ในนี้หมด เป็นช่วงที่ข้าวสารหมดไวที่สุดจนต้องเตรียมสำรองไว้ต่างหาก 1 ชุด ขนาดกินข้าวกันแค่มื้อละ 1 ถ้วยเท่านั้น แถมสลับด้วยสปาเกตตี้บ้าง ขนมปังบ้าง ก็ยังถือว่าหมดไวมาก) คนที่ชอปปิงออนไลน์บ่อยที่สุดในบ้านคือ คุณพ่อ
คุณพ่อสั่งซื้อของออนไลน์ ตั้งแต่เครื่องวัดอุณหภูมิ วิตามิน ยา สุขภัณฑ์ หมอน พัดลม ลำโพง พวงกุญแจ ประกัน COVID-19 ไปจนถึง ทุเรียน สละลอยแก้ว โรตีกรอบ (อีกเยอะ จำไม่ได้) ส่วนลูกชายสองคนสั่ง โต๊ะปิงปอง ไม้ปิงปอง ไพ่ คอร์สออนไลน์ (ใช้งานคุ้มทุกอย่าง) แล้วคุณแม่ล่ะ สั่งอะไรบ้าง ของที่คุณแม่สั่งบ่อยที่สุดคือหนังสือ (ทั้งของคุณแม่และลูกรวม 70 เล่มใน 4 เดือน) ที่เหลือเป็นขนมและของกินที่สั่งให้ลูก (แต่ทำไมคุณแม่น้ำหนักขึ้นก็ไม่รู้)
จุดหมายปลายทาง
และแล้วเราก็เดินทางมาถึงวันสุดท้ายก่อนโรงเรียนเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ในระหว่างปิดภาคเรียน โรงเรียนได้มีการติดต่อสื่อสารกับนักเรียนและผู้ปกครองหลายช่องทาง ทั้งทางไลน์ อีเมล Facebook ผู้อำนวยการทั้งฝ่ายประถมและฝ่ายมัธยมอัดคลิปวิดีโอแจ้งข้อมูลอัปเดตอย่างสม่ำเสมอ และมีการปฐมนิเทศผู้ปกครองแบบออนไลน์ทั้งคู่
ฝ่ายมัธยม (ลูกชายคนโต) เปิดก่อนฝ่ายประถม (ลูกชายคนเล็ก) 1 สัปดาห์ ตามตารางเรียน ลูกชายคนโตต้องไปโรงเรียนทุกวัน เพราะพื้นที่ในโรงเรียนสามารถรองรับนักเรียนมัธยมซึ่งมีจำนวนน้อยได้พร้อม ๆ กัน โดยสามารถรักษาระยะห่างระหว่างกันได้ ก่อนเปิดเทอมมีการเรียนออนไลน์ล่วงหน้าไปแล้ว 4 สัปดาห์ เปิดเทอม 3 วันแรกยังไม่มีการเรียนการสอน แต่มีการทำกิจกรรมเตรียมความพร้อม เพราะโรงเรียนปรับหลักสูตรการเรียนการสอน เปลี่ยนผู้อำนวยการโรงเรียน และมีการแยกพื้นที่ฝ่ายประถมกับฝ่ายมัธยมออกจากกันอย่างชัดเจน
ลูกชายคนเล็กมีเรียนออนไลน์ก่อนเปิดเทอมรวม 4 สัปดาห์เช่นกัน แต่เทอมแรกนี้ลูกต้องไปโรงเรียนวันเว้นวัน คือไปเรียนที่โรงเรียน 3 วัน (ชั่วโมงเรียนนานขึ้น 1 ชั่วโมงต่อวัน) เรียนออนไลน์ที่บ้าน 2 วันต่อสัปดาห์ เนื่องจากพื้นที่โรงเรียนมีจำกัดสำหรับการรักษาระยะห่างระหว่างกัน
โชคดีที่ตารางกิจกรรมกีฬาและดนตรีนอกเวลาเรียนของลูกไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เว้นแต่ลูกชายคนเล็กซึมไปเล็กน้อยเมื่อรู้ว่าต้องเรียนวันเสาร์ เพราะเป็นวันที่ลูกอยากอยู่กับคุณพ่อ แม้คุณพ่อบอกว่าจะเป็นคนไปส่งลูกเองทุกวันเสาร์ ลูกก็ยังเศร้าอยู่ดี ถึงกับเขียนลงในสมุดบันทึกเลยว่าไม่อยากเรียนวันเสาร์เพราะคุณพ่ออยู่บ้าน
เที่ยวที่บ้านปีนี้ ครอบครัวเราได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ร่วมกันหลายอย่าง (ผ่านสื่อต่าง ๆ) ทำกิจกรรมด้วยกันพอประมาณ (ประมาณว่าเยอะมาก) รับผิดชอบงานของตนเองได้ดี (แค่ต้องเตือนลูกคนเล็กบ่อยหน่อย ซึ่งก็เตือนตลอดแหละ) เปิดเทอมครั้งนี้ คุณแม่คงจะเก้กังเล็กน้อยเพราะเรื้องานบ้านมา 4 เดือนเต็ม คงจะขับรถแบบระมัดระวังขึ้นเพราะที่ผ่านมาใช้รถแค่เดือนละหนึ่งวัน
ด้วยจังหวะชีวิตที่กำลังจะเปลี่ยนไปอีกครั้ง ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนปรับตัวสู้กันต่อไป เพื่อความปกติสุขทั้งในปัจจุบันและในวันข้างหน้า
จบบันทึกเที่ยวที่บ้านของคุณแม่ (ของลูกก็มี แต่ลูกไม่ให้ดู)
Imagery: TFH familygallery
Imagery: TFH resortgallery
Leave a Reply